healthy drink


GK Blueberry
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรคาวตอง
1. ฤทธิ์ทางเสริมภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวและช่วยให้เม็ดเลือดขาว
 (Macrophage) ทำงานได้ดีขึ้น
2. ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็ง 5 ชนิด คือ 
เซลล์มะเร็งปอด 
เซลล์มะเร็งไข่ 
เซลล์เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย 
เซลล์มะเร็งสมอง 
เซลล์มะเร็งลำไส้
3. ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และช่วยให้เม็ดเลือดขาว (Nk cell,Macrophage) ทำงานได้ดีขึ้น
4. ฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัส (Anti-virus) ชนิด HSV-1 HIV 1 ไข้หวัดใหญ่ เริม งูสวัด หัด หัดเยอรมัน โดยไม่ทำลาย Host cell
5. ฤทธิ์ต้านเชื้อรา เช่น.กลาก เกลื้อน สังคัง ฮ่องกงฟุต สะเก็ดเงิน สะเก็ดทอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา ปอดอักเสบ
6. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เช่น โรคท้องร่วง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ ฝี โรคระบบสืบพันธุ์ ตกขาว
7. ฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบในเด็ก รูมาตอยท์ แผลหลังผ่าตัด แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หนองใน ปวดฟัน เป็นต้น
8. มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับล้างสารพิษต่างๆทางปัสสาวะ กำจัดความร้อน แก้กระหาย ขยายหลอดเลือดฝอย
ผักคาวตอง ผักก้านตอง ผักแควตอง ผักเข้าตอง พลูแก พลูคาว หรือคาวตอง เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสาน ปลูกได้ดีในบางพื้นที่ที่มีภูเขาและความชุ่มชื้นระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบกลิ่น รสคาว ขื่น เผ็ด ของพลูคาวเท่าใดนัก แม้ว่าหมอยาหลายท่านจะบอกว่า พลูคาวกินกับแจ่วส้มมะเขือเครือโดยเอาผักคาวทำคำใหญ่ๆ คุ้ย แซบนัก หรือกินสดๆ แกล้มกินกับลาบกับก้อย ใส่ซุบหน่อไม้ ต้มไก่ ต้มปลา ซั่วกบ ซั่วหอย ซั่วกบหมื่น ลาบปลา แจ่วกุ้ง ใส่ลาบเทา อร่อยมากๆ กินแล้วมีแฮงก็ตาม แต่เมื่อได้ลิ้มชิมรสแล้วไม่เคยรู้สึกว่าแซบหรืออร่อย ตามคำบอกเล่าสักที
หลายครั้งที่ไปพบพลูคาววางกองขายอยู่ในตลาดก็อดฉงนไม่ได้ว่า มีคนชอบกินพลูคาวมากมายนักหรือ จนยิ่งได้มีโอกาสพบแม่เฒ่าชาวไทยใหญ่ ท่านได้บอกว่า ในวิถีชีวิตของชาวไทยใหญ่นั้น นอกจากจะกินใบสดๆของพลูคาวแล้ว ยังนิยมตำน้ำพริกรากพลูคาวกินอร่อยดีแท้ รากพลูคาวมีกลิ่นฉุนคล้ายกระเทียม แทบจะแทนกันเลยก็ว่าได้
พลูคาวเป็นผักที่ปู่ย่าตายายของคนพื้นบ้านทั้งทางภาคเหนือและภาคอีสานบอกกับลูกหลานว่าให้กินผักคาวตองเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย ผิวพรรณจะสวยงาม และไม่ใช่เฉพาะคนบ้านเราเท่านั้นที่กินพลูคาวเป็นผัก ในอินเดียและประเทศในภูมิภาคอินโดจีนที่มีพลูคาวเหมือนๆ กับเราต่างก็กินพลูคาวเป็นผักเช่นกัน โดยกินเป็นผักสดหรือใช้ต้มกับปลาหรือไข่เป็ดดับกลิ่นคาว
คาวตอง กินแล้วตาที่พร่ามัวของคนแก่จะดีขึ้น
ไม่ว่าใครจะพูดถึงสรรพคุณของคาวตองว่ามีมากมายอย่างไร แต่ถ้าไปถามพ่อหมอฉล่าซู่ หมอยาไทยใหญ่แห่งตำบลเปียงหลวงแล้ว ท่านก็จะยืนยันว่าคาวตองแก้คนแก่ตาพร่า ฝ้าฟาง พร่ามัว โดยนำผักคาวตองมารับประทานเป็นประจำ เป็นอาหารประจำวันทุกวัน พ่อหมอฉล่าซู่บอกว่าถ้ารับประทานหมด ๓ จ้อย (๑ จ้อยประมาณ ๑.๖ กิโลกรัม) จะทำให้คนแก่ที่ตามัวมองเห็นได้ชัดถึงขั้นเอาด้ายใส่ในรูเข็มได้สบาย ท่านบอกเคยเห็นมาแล้ว
คาวตอง ผักเป็นยายาเบาหวาน ยาความดัน ยาริดสีดวง ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร
หมอยาทั่วไปทั้งหมอยาอีสาน ภาคเหนือหรือไทยใหญ่ มีความเชื่อว่าการกินคาวตองสดๆ กับน้ำพริก ลู่ ลาบ หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริกกินจะเป็นยารักษาได้หลายโรค เช่น เบาหวาน ขับปัสสาวะ ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหาร ส่วนหมอยากะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก นอกจากจะเชื่อว่าการกินคาวตองเป็นผักจะทำให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยบำรุงเลือดให้สตรีที่ตกเลือดหลังคลอด รับประทานแล้วจะเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลดังเดิม
คาวตองรักษาโรคผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์ กัดต่อย ไล่เหา หมัด
คาวตองยังนิยมใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แผลเปื่อย โดยการนำต้นสดตำพอก เปลี่ยนยาวันละ ๒ ครั้ง นอกจากนี้เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อักเสบช้ำบวม กระดูกหัก หมอยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นตำพอกไว้ เปลี่ยนยาวันละสองครั้ง นอกจากนี้คาวตองยังมีสรรพคุณในการไล่หมัดและเหาโดยการตำคั้นน้ำมาหมักผมไว้ เหาและหมัดก็จะหลุดออกมา
พลูคาว เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้านมะเร็ง
ประมาณปี ๒๕๔๗ เภสัชกรปราณี ชวลิตธำรง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น ได้ฝากให้ช่วยหาคาวตองจากจังหวัดเชียงใหม่มาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐาน จึงทำให้สนใจในสรรพคุณทางยาของคาวตองมากขึ้น และเพิ่งได้รู้ว่าคาวตองเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัย และมีการจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง ทั้งในแง่ของการเป็นยาและเครื่องสำอาง การเป็นยาที่สำคัญคือการเป็นยารักษามะเร็ง ซึ่งในการรักษามะเร็งนี้ได้เคยมีชาวบ้านเล่าให้ฟังอยู่บ้าง มีทั้งการต้มกินน้ำและการกินสดๆ
นอกจากมีการศึกษาวิจัยพลูคาวในแง่ของการเป็นยารักษามะเร็งแล้ว คาวตองยังเป็นความหวังในการรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากคาวตองมีผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและน้ำมันหอมระเหยของคาวตองยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลอง มีหมอยาเมืองเลยเคยบอกว่า ในการรักษาหวัดคัดจมูก ปวดหัว ตาพร่ามัว ให้ขยี้ใบคาวตองและใบผักแพวดม อาการจะดีขึ้น
สรรพคุณทางยาของพลูคาวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องราวที่รู้มาจากบรรดาพ่อหมอยาที่ได้มีโอกาสไปสัมพันธ์ พบปะพูดคุยด้วย นอกจากสรรพคุณเหล่านั้นแล้ว ในตำรายาพื้นบ้านยังระบุว่า พลูคาวใช้ทั้งต้นรักษาฝีหนองในปอด ปวดศีรษะ แก้บิด ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แผลเปื่อย และใช้พอกในรายกระดูกหัก ส่วนชาวเขาใช้แก้ไข้มาลาเรีย ใบแก้บิด หัด แก้โรคผิวหนัง ทำให้น้ำเหลืองแห้ง รักษาริดสีดวงทวาร และหนองใน รากขับปัสสาวะ อย่างไรก็ตามมีการบันทึกตำรับยาแผนโบราณที่มีพืชนี้ภายใต้ชื่อคาวตองหรือพลูแกเป็นส่วนประกอบอยู่หลายขนาน เช่น ตำรับยาแก้น้ำมูกพิการ ยาแก้ขัดเบา ยามหาระงับพิษร้าย ยาแก้พิษหละจับหัวใจ และยาแก้ลมปะกัง เป็นต้น
การใช้คาวตองเป็นยาตามสรรพคุณข้างต้นนั้นมีความคล้ายคลึงกันในหลายประเทศ เช่น ประเทศในแถบอินโดจีน ที่ใช้ทั้งต้นบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้ลมพิษ ใบใช้แก้บิด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการใช้ของจีน ที่ใช้ใบหรือทั้งต้นขับปัสสาวะ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอและบิด ต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ
ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ใช้ทั้งต้นเป็นยาลดไข้ ขจัดสารพิษ รักษาแผลในกระเพาะและลดการอักเสบ ในประเทศเกาหลียังใช้พลูคาวเป็นยาลดความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็งตัวเนื่องจากมีการสะสมของไขมัน (atherosclersis) และมะเร็ง ส่วนเนปาลใช้ลำต้นใต้ดินในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ขับระดู ใช้ทั้งต้นเป็นยาย่อยอาหาร บรรเทาอาการอักเสบ ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิดและริดสีดวงทวาร ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากคาวตองของหมอพื้นบ้านในแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
คาวตอง ความหวังในการพิชิตโรคร้าย
พลูคาวจัดเป็นผักสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยและจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพลูคาวเช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ทางยาของหมอยาพื้นบ้านตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนี้ ฤทธิ์ขับปัสสาวะ พบว่าสารฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงไต จึงมีผลเพิ่มการขับปัสสาวะ ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านไวรัส น้ำมันหอมระเหยจากพลูคาวสามารถยับยั้งการเจริญของไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ ไวรัสต้นเหตุของโรคเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสเอดส์ ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ซึ่งในประเทศจีน มีการใช้พลูคาวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาผงและยาฉีดในมะเร็งหลายชนิด ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์ต้านการอักเสบและระงับการปวด โดยออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดลดการอักเสบแผนปัจจุบันที่มิใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
พลูคาวเป็นผักที่ปลูกง่าย ต้องการเพียงความชื้น แต่บางครั้งก็ต้องแย่งกับทากที่ชอบมากัดกินใบแข่งกับเราบ้าง หมอยาส่วนใหญ่ต่างยืนยันตรงกันว่ากินสดๆ ดีที่สุด ปลูกเอง กินเอง แข็งแรงเองได้โดยไม่ต้องไปเสียค่าการตลาดหรือค่าสิทธิบัตรแพงลิบลิ่ว เพียงแต่ต้องการความกล้าหาญที่จะกินจนชินกับกลิ่นเฉพาะของสุดยอดผักสมุนไพรเพื่อสุขภาพอย่างคาวตอง พลูคาว เคียวตอง ที่แสนจะคาวเท่านั้นเอง